Categories
จิ้งหรีด ตลาดแมลง ผงจิ้งหรีด แมลง

ขายแมลงให้เป็นธุรกิจ ทำเงินไว ส่งออกได้ทั่วโลก

บอกต่อความรู้สึกกับ "ขวัญใจฟาร์ม"

Main Idea

คนไทยรู้จักการบริโภคแมลงมานานเป็นร้อยปี แต่ธุรกิจเพาะเลี้ยงแมลงในประเทศเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 15-20 ปีก่อน โดยแมลงซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกที่สำคัญ ไม่เพียงเป็นที่ต้องการสำหรับตลาดในประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นที่ต้องการในต่างประเทศอีกด้วย จึงเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจฟาร์มแมลงในบ้านเราที่จะขยายตลาดส่งออกให้มากขึ้น

การเพาะเลี้ยงแมลง สามารถสร้างรายได้ให้ทั้งการทำเป็นอาชีพเสริม และการลงทุนฟาร์มมาตรฐาน แต่หัวใจสำคัญของธุรกิจนี้ คือ “ตลาด”

 

 

จากการค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับฟาร์มจิ้งหรีด และมองเห็นเทรนด์การบริโภค “โปรตีนทางเลือก” ที่ความนิยมเติบโตไปทั่วโลกนั้น เป็นจุดตัดสินใจทำให้เมื่อ 5 ปีก่อน “นนทวัฒน์ บางเอี่ยม” ผันตัวเองจากนักวิจัยมาเป็นเจ้าของกิจการฟาร์มจิ้งหรีด และจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขวัญใจฟาร์ม ผลิตและจำหน่ายแมลงแช่แข็งภายใต้แบรนด์ “ขวัญใจฟาร์มจิ้งหรีด” ส่งจำหน่ายในโมเดิร์นเทรดทั่วประเทศ

โดยโปรตีนจากแมลงนั้น พบว่ามีคุณภาพใกล้เคียงกับเนื้อปลา อีกทั้งหลายประเทศทั่วโลกนิยมบริโภคแมลงอย่างน้อย 1-2 ชนิด เช่น หนอนนก แมลงสาบชนิดที่กินได้ และแมลงวันลายซึ่งนิยมนำไปผลิตเป็นอาหารสัตว์ ในขณะที่คนไทยกินแมลงมานานแล้ว มีตัวเลขการบริโภคประมาณ 7 พันตันต่อปี มีกลุ่มผู้เลี้ยงแมลงอยู่ 2 หมื่นราย แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นฟาร์มขนาดกลางและเล็ก รวมแล้วผลิตได้ 30-40 กิโลกรัมต่อเดือน ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ส่วนตลาดแปรรูปในประเทศมีผู้ผลิตอยู่เพียง 5-6 รายเท่านั้น

 

“แหล่งที่มาของแมลงในบ้านเรามี 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่เพาะเลี้ยงไม่ได้ แต่จะใช้วิธีการดักจับ และกลุ่มที่เพาะเลี้ยงได้ นั่นก็คือจิ้งหรีด และดักแด้ไหม ซึ่งมีการพัฒนาขั้นตอนการเลี้ยงอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การมีพ่อแม่พันธุ์ การเพาะไข่ เลี้ยงตัวอ่อนและวิธีการจับ อีกทั้งยังมีอาหารสำเร็จรูปสำหรับการเลี้ยงโดยเฉพาะ

แม้ว่าปัจจุบันตลาดในประเทศจะยังไม่เสถียรนัก แต่ตลาดที่จะเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจแมลงของไทยคือ ตลาดส่งออก โดยตลาดส่งออกแมลงของไทยจะแบ่งออกเป็น 3 ตลาดคือ ผงแป้งจากแมลง จะส่งออกไปยังกลุ่มประเทศยุโรปเป็นหลัก ส่วนการแปรรูป เช่นทอด และอบ ตลาดหลักจะอยู่ที่จีน และเวียดนาม สุดท้ายคือแมลงแช่แข็ง เพื่อรักษาสภาพของแมลงไว้ให้มีคุณภาพดังเดิม โดยปัจจุบัน ทางหน่วยงานราชการ ไม่ว่าจะเป็น มกอช. (สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ) และกรมปศุสัตย์ ได้ออกมาตรฐานการเลี้ยงฟาร์มจิ้งหรีดออกมาแล้ว ตลอดจนอบรมวิธีการเลี้ยงที่ถูกต้อง ทำให้ตอนนี้หลายๆ ฟาร์มอยู่ในช่วงของการปรับปรุงและพัฒนาเพื่อให้ได้ตามมาตรฐาน ซึ่งทำให้มองเห็นโอกาสในการส่งออกมากขึ้น

โดยเฉพาะการขยายไปสู่ตลาดใหม่ๆ ที่น่าสนใจ เช่น ประเทศในแถบอเมริกาใต้ อย่างเม็กซิโก คนที่นั่นเขากินแมลงกันเป็นประจำอยู่แล้ว ยังมีตลาด เปรู และ ชิลี ที่มองว่าจิ้งหรีดจากไทยน่าจะเข้าไปทดแทนแมลงดั้งเดิมที่เขากินกันได้ แต่การจะส่งออกไปประเทศเหล่านี้ได้ จะต้องมีวอลุ่มที่ใหญ่มากพอ ดังนั้น ผู้เลี้ยงที่เป็นฟาร์มมาตรฐานในบ้านเราควรรวมกลุ่มกันเพื่อให้มีขนาดใหญ่ขึ้น สร้างอำนาจต่อรองและลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ รวมทั้งภาครัฐจะมีความสามารถเข้ามาสนับสนุนได้ชัดเจนมากขึ้นด้วย” นนทวัฒน์ กล่าว

สำหรับผู้ที่สนใจเข้ามาในธุรกิจแมลงนั้น นนทวัฒน์ บอกเล่าจากประสบการณ์ที่สั่งสมมากว่า 5 ปี ว่าการเพาะเลี้ยงแมลงในประเทศจะใช้เงินลงทุนไม่สูงนัก อยู่ที่หลักเกือบๆ หนึ่งแสนบาท ไปจนถึงหลัก 2 แสนบาท สามารถเลี้ยงและจะมีผลผลิตอยู่ที่ประมาณ 100-500 กิโลกรัม ต่อเดือน มีราคาขายปลีกอยู่ที่กิโลกรัมละ 150 บาท จะทำให้ผู้เลี้ยงมีรายได้ต่อเดือนอย่างน้อย 60,000 – 70,000 บาท ซึ่งจะทำให้คืนทุนเร็วมาก

หรือหากต้องการขยายสเกลการเพาะเลี้ยงให้ใหญ่ขึ้นกว่านี้ ผู้เลี้ยงจะต้องขยับมาเป็นการขายส่งด้วย ซึ่งกำไรอาจจะลดลงไปบ้าง และหากสามารถหาตลาดได้ก็จะทำให้อยู่ได้

“ผู้ที่ต้องการจะเข้ามาในธุรกิจนี้ แนะนำว่า หากต้องการทำเป็นอาชีพเสริม มีพื้นที่เลี้ยง และมีตลาดที่สามารถขายเองได้ ก็ทำได้เลยด้วยการลงทุนหาซื้ออุปกรณ์การเลี้ยงมา ลักษณะนี้จะมีกำไรต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 5,000-10,000 บาทเพื่อเป็นรายได้เสริม ส่วนผู้ที่ต้องการลงทุนเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ขึ้น สามารถมาศึกษาโมเดลและวิธีการที่ขวัญใจฟาร์มจิ้งหรีดก่อนได้ แต่สิ่งสำคัญอย่างแรกคือต้องหาตลาดให้ก่อนด้วย ส่วนการเพาะเลี้ยงจะใช้อาหารสำเร็จรูปซึ่งจะมีต้นทุนสูงกว่าการเลี้ยงแบบธรรมชาติ แต่หากตัดสินใจลงทุนแล้ว ขอแนะนำว่าควรทำเป็นฟาร์มมาตรฐานเลย เพื่อการมองหาโอกาสตลาดส่งออกไปยังต่างประเทศ” นนทวัฒน์ กล่าว

เขาย้ำทิ้งท้ายอีกด้วยว่า ตลาดแมลงเศรษฐกิจในบ้านเรายังมีความน่าสนใจอยู่มาก แต่ควรสร้างให้เป็นมาตรฐานเพื่อเป้าหมายด้านตลาดส่งออก ซึ่งตลาดโลกถือเป็นตลาดที่กว้างมาก มีโอกาสเติบโตสูง ที่ผ่านมาพบว่าเติบโตถึง 40 เปอร์เซ็นต์ และในอนาคตอีก 30 ปีข้างหน้า เมื่อจำนวนประชากรโลกเติบโตจาก 7 พันล้านคน เป็น 9 พันล้านคน เวลานั้นแหล่งโปรตีนหลักอาจจะไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคก็เป็นได้

ดังนั้น “แมลง” จึงจะเป็นอีกทางเลือกที่จะทำให้ประชากรโลกได้รับโปรตีนอย่างครบถ้วน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *