Categories
จิ้งหรีด ตลาดแมลง ผงจิ้งหรีด

“ประภัตร” เดินหน้าส่งเสริมอาชีพเกษตรกรสุพรรณฯ เลี้ยงจิ้งหรีด พร้อมรับซื้อคืน กก.ละ 80 บาท ป้อนโรงงานจิ้งหรีดผง เตรียมส่งออกตลาดต่างประเทศ

“ประภัตร” เดินหน้าส่งเสริมอาชีพเกษตรกรสุพรรณฯ เลี้ยงจิ้งหรีด พร้อมรับซื้อคืน กก.ละ 80 บาท ป้อนโรงงานจิ้งหรีดผง เตรียมส่งออกตลาดต่างประเทศ

“ประภัตร” เดินหน้าส่งเสริมอาชีพเกษตรกรสุพรรณฯ เลี้ยงจิ้งหรีด พร้อมรับซื้อคืน กก.ละ 80 บาท ป้อนโรงงานจิ้งหรีดผง เตรียมส่งออกตลาดต่างประเทศ


เมื่อวันที่ 7 มี.ค. นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการอบรมส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งหรีด ครั้งที่ 1 ภายใต้โครงการส่งเสริมอาชีพ เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร แก้วิกฤตโควิด-19 ซึ่ง สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ร่วมกับกรมปศุสัตว์ จัดขึ้น โดยมีนายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการ มกอช. นายอาชว์ ชัยชาญ อธิบดีกรมการข้าว นายพิทักษ์ ชายสม ผู้อำนวยการกลุ่มมาตรฐานสุขอนามัยสัตว์ และนายชนวัฒน์ สิทธิธูรณ์ ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายระหว่างประเทศ กองนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร นายวิวัฒน์ ไชยชะอุ่ม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ รวมทั้ง ปศุสัตว์จังหวัด หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ร่วมต้อนรับ

 

นายประภัตร โพธสุธน กล่าวว่า รัฐบาลได้ตระหนักและมีความเป็นห่วงเกษตรกร และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และผลกระทบจากภัยพิบัติ ทั้งอุทกภัยและภัยแล้งตลอดจนผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จึงมีนโยบายเร่งด่วนเพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชน ให้สามารถประกอบอาชีพและสร้างรายได้ ซึ่งวันนี้อาชีพหนึ่งที่น่าส่งเสริมมากที่สุด คือ การเลี้ยงจิ้งหรีด เนื่องจากเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว และมีคุณประโยชน์ทางด้านโปรตีน ใช้ต้นทุนเพียง 4,500-5,000 บาท และปัจจุบันนจิ้งหรีดเป็นที่ต้องการของตลาดโลก ได้แก่ สหรัฐฯ เม็กซิโก นิวซีแลนด์ และประเทศในยุโรป

ดังนั้น จึงได้มีการจัดอบรมเกษตรกรผู้สนใจเลี้ยงจิ้งหรีด เป็นอาชีพเสริม ในพื้นที่ 4 อำเภอ ของจังหวัดสุพรรณบุรี ได้แก่ อำเภอวังน้ำทรัพย์ อำเภอวังยาง อำเภอดอนเจดีย์ และอำเภอสามชุก จำนวน 300 คน พร้อมสนับสนุนอุปกรณ์ในการเลี้ยงฟรี อาทิ ลังเลี้ยงจิ้งหรีด ไข่จิ้งหรีด รวมทั้งเปิดรับซื้อจิ้งหรีดคืนจากเกษตรกรกิโลกรัมละ 80 บาท นอกจากนี้ มีการสร้างโรงงานแปรรูปจิ้งหรีดผง เพื่อส่งออกจำหน่ายให้กับตลาดต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกษตรกรเชื่อมั่นว่าเลี้ยงแล้วมีตลาดรองรับที่แน่นอน

ด้านนายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการ มกอช. กล่าวว่า การส่งออกจิ้งหรีดไปยังประเทศต่างๆ ฟาร์มจิ้งหรีดจะต้องได้การรับรองมาตรฐาน ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย มกอช. ได้ประกาศมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด (มกษ.8202-2560) เป็นมาตรฐานทั่วไป เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อความปลอดภัยของผลิตผลจากจิ้งหรีด โดยมีกรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการตรวจรับรอง ดังนั้น เกษตรกรที่เลี้ยงจิ้งหรีดจะต้องปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐาน และสามารถยื่นขอการรับรองมาตรฐานฟาร์มจิ้งหรีด GAP ได้ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด เมื่อผ่านการรับรองมาตรฐานแล้วก็สามารถส่งจิ้งหรีดไปยังโรงงานแปรรูป ทำให้กระบวนการส่งออกง่ายขึ้น เพราะดำเนินการตามเกณฑ์คู่ค้าต้องการ รวมทั้งเป็นการขยายตลาดจิ้งหรีดของไทยไปทั่วโลก

Categories
จิ้งหรีด ตลาดแมลง ผงจิ้งหรีด แมลง

ขายแมลงให้เป็นธุรกิจ ทำเงินไว ส่งออกได้ทั่วโลก

Main Idea

คนไทยรู้จักการบริโภคแมลงมานานเป็นร้อยปี แต่ธุรกิจเพาะเลี้ยงแมลงในประเทศเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 15-20 ปีก่อน โดยแมลงซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกที่สำคัญ ไม่เพียงเป็นที่ต้องการสำหรับตลาดในประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นที่ต้องการในต่างประเทศอีกด้วย จึงเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจฟาร์มแมลงในบ้านเราที่จะขยายตลาดส่งออกให้มากขึ้น

การเพาะเลี้ยงแมลง สามารถสร้างรายได้ให้ทั้งการทำเป็นอาชีพเสริม และการลงทุนฟาร์มมาตรฐาน แต่หัวใจสำคัญของธุรกิจนี้ คือ “ตลาด”

 

 

จากการค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับฟาร์มจิ้งหรีด และมองเห็นเทรนด์การบริโภค “โปรตีนทางเลือก” ที่ความนิยมเติบโตไปทั่วโลกนั้น เป็นจุดตัดสินใจทำให้เมื่อ 5 ปีก่อน “นนทวัฒน์ บางเอี่ยม” ผันตัวเองจากนักวิจัยมาเป็นเจ้าของกิจการฟาร์มจิ้งหรีด และจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขวัญใจฟาร์ม ผลิตและจำหน่ายแมลงแช่แข็งภายใต้แบรนด์ “ขวัญใจฟาร์มจิ้งหรีด” ส่งจำหน่ายในโมเดิร์นเทรดทั่วประเทศ

โดยโปรตีนจากแมลงนั้น พบว่ามีคุณภาพใกล้เคียงกับเนื้อปลา อีกทั้งหลายประเทศทั่วโลกนิยมบริโภคแมลงอย่างน้อย 1-2 ชนิด เช่น หนอนนก แมลงสาบชนิดที่กินได้ และแมลงวันลายซึ่งนิยมนำไปผลิตเป็นอาหารสัตว์ ในขณะที่คนไทยกินแมลงมานานแล้ว มีตัวเลขการบริโภคประมาณ 7 พันตันต่อปี มีกลุ่มผู้เลี้ยงแมลงอยู่ 2 หมื่นราย แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นฟาร์มขนาดกลางและเล็ก รวมแล้วผลิตได้ 30-40 กิโลกรัมต่อเดือน ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ส่วนตลาดแปรรูปในประเทศมีผู้ผลิตอยู่เพียง 5-6 รายเท่านั้น

 

“แหล่งที่มาของแมลงในบ้านเรามี 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่เพาะเลี้ยงไม่ได้ แต่จะใช้วิธีการดักจับ และกลุ่มที่เพาะเลี้ยงได้ นั่นก็คือจิ้งหรีด และดักแด้ไหม ซึ่งมีการพัฒนาขั้นตอนการเลี้ยงอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การมีพ่อแม่พันธุ์ การเพาะไข่ เลี้ยงตัวอ่อนและวิธีการจับ อีกทั้งยังมีอาหารสำเร็จรูปสำหรับการเลี้ยงโดยเฉพาะ

แม้ว่าปัจจุบันตลาดในประเทศจะยังไม่เสถียรนัก แต่ตลาดที่จะเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจแมลงของไทยคือ ตลาดส่งออก โดยตลาดส่งออกแมลงของไทยจะแบ่งออกเป็น 3 ตลาดคือ ผงแป้งจากแมลง จะส่งออกไปยังกลุ่มประเทศยุโรปเป็นหลัก ส่วนการแปรรูป เช่นทอด และอบ ตลาดหลักจะอยู่ที่จีน และเวียดนาม สุดท้ายคือแมลงแช่แข็ง เพื่อรักษาสภาพของแมลงไว้ให้มีคุณภาพดังเดิม โดยปัจจุบัน ทางหน่วยงานราชการ ไม่ว่าจะเป็น มกอช. (สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ) และกรมปศุสัตย์ ได้ออกมาตรฐานการเลี้ยงฟาร์มจิ้งหรีดออกมาแล้ว ตลอดจนอบรมวิธีการเลี้ยงที่ถูกต้อง ทำให้ตอนนี้หลายๆ ฟาร์มอยู่ในช่วงของการปรับปรุงและพัฒนาเพื่อให้ได้ตามมาตรฐาน ซึ่งทำให้มองเห็นโอกาสในการส่งออกมากขึ้น

โดยเฉพาะการขยายไปสู่ตลาดใหม่ๆ ที่น่าสนใจ เช่น ประเทศในแถบอเมริกาใต้ อย่างเม็กซิโก คนที่นั่นเขากินแมลงกันเป็นประจำอยู่แล้ว ยังมีตลาด เปรู และ ชิลี ที่มองว่าจิ้งหรีดจากไทยน่าจะเข้าไปทดแทนแมลงดั้งเดิมที่เขากินกันได้ แต่การจะส่งออกไปประเทศเหล่านี้ได้ จะต้องมีวอลุ่มที่ใหญ่มากพอ ดังนั้น ผู้เลี้ยงที่เป็นฟาร์มมาตรฐานในบ้านเราควรรวมกลุ่มกันเพื่อให้มีขนาดใหญ่ขึ้น สร้างอำนาจต่อรองและลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ รวมทั้งภาครัฐจะมีความสามารถเข้ามาสนับสนุนได้ชัดเจนมากขึ้นด้วย” นนทวัฒน์ กล่าว

สำหรับผู้ที่สนใจเข้ามาในธุรกิจแมลงนั้น นนทวัฒน์ บอกเล่าจากประสบการณ์ที่สั่งสมมากว่า 5 ปี ว่าการเพาะเลี้ยงแมลงในประเทศจะใช้เงินลงทุนไม่สูงนัก อยู่ที่หลักเกือบๆ หนึ่งแสนบาท ไปจนถึงหลัก 2 แสนบาท สามารถเลี้ยงและจะมีผลผลิตอยู่ที่ประมาณ 100-500 กิโลกรัม ต่อเดือน มีราคาขายปลีกอยู่ที่กิโลกรัมละ 150 บาท จะทำให้ผู้เลี้ยงมีรายได้ต่อเดือนอย่างน้อย 60,000 – 70,000 บาท ซึ่งจะทำให้คืนทุนเร็วมาก

หรือหากต้องการขยายสเกลการเพาะเลี้ยงให้ใหญ่ขึ้นกว่านี้ ผู้เลี้ยงจะต้องขยับมาเป็นการขายส่งด้วย ซึ่งกำไรอาจจะลดลงไปบ้าง และหากสามารถหาตลาดได้ก็จะทำให้อยู่ได้

“ผู้ที่ต้องการจะเข้ามาในธุรกิจนี้ แนะนำว่า หากต้องการทำเป็นอาชีพเสริม มีพื้นที่เลี้ยง และมีตลาดที่สามารถขายเองได้ ก็ทำได้เลยด้วยการลงทุนหาซื้ออุปกรณ์การเลี้ยงมา ลักษณะนี้จะมีกำไรต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 5,000-10,000 บาทเพื่อเป็นรายได้เสริม ส่วนผู้ที่ต้องการลงทุนเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ขึ้น สามารถมาศึกษาโมเดลและวิธีการที่ขวัญใจฟาร์มจิ้งหรีดก่อนได้ แต่สิ่งสำคัญอย่างแรกคือต้องหาตลาดให้ก่อนด้วย ส่วนการเพาะเลี้ยงจะใช้อาหารสำเร็จรูปซึ่งจะมีต้นทุนสูงกว่าการเลี้ยงแบบธรรมชาติ แต่หากตัดสินใจลงทุนแล้ว ขอแนะนำว่าควรทำเป็นฟาร์มมาตรฐานเลย เพื่อการมองหาโอกาสตลาดส่งออกไปยังต่างประเทศ” นนทวัฒน์ กล่าว

เขาย้ำทิ้งท้ายอีกด้วยว่า ตลาดแมลงเศรษฐกิจในบ้านเรายังมีความน่าสนใจอยู่มาก แต่ควรสร้างให้เป็นมาตรฐานเพื่อเป้าหมายด้านตลาดส่งออก ซึ่งตลาดโลกถือเป็นตลาดที่กว้างมาก มีโอกาสเติบโตสูง ที่ผ่านมาพบว่าเติบโตถึง 40 เปอร์เซ็นต์ และในอนาคตอีก 30 ปีข้างหน้า เมื่อจำนวนประชากรโลกเติบโตจาก 7 พันล้านคน เป็น 9 พันล้านคน เวลานั้นแหล่งโปรตีนหลักอาจจะไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคก็เป็นได้

ดังนั้น “แมลง” จึงจะเป็นอีกทางเลือกที่จะทำให้ประชากรโลกได้รับโปรตีนอย่างครบถ้วน

Categories
จิ้งหรีด ตลาดแมลง ผงจิ้งหรีด แมลง

“จิ้งหรีด” สัตว์เศรษฐกิจในอนาคต โปรตีนสูง ต่อยอดอุตสาหกรรมอาหาร

“จิ้งหรีด” สัตว์เศรษฐกิจในอนาคตแปรรูปอาหารเพื่อสุขภาพโปรตีนสูง ต่อยอดอุตสาหกรรมอาหาร

วันที่ 21 กรกฎาคม 2563 เวลา 8.30 น.ที่โรงแรมโฆษะ จังหวัดขอนแก่น สถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดการประชุมวิชาการจิ้งหรีดอีสานสู่อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต โดยมี ข้าราชการ พนักงาน รัฐวิสาหกิจ ภาคีเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ และภาคประชาชน ร่วมงานจำนวน 100 คน โดยได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นประธานกล่าวเปิดงาน

รศ.รังสรรค์ เนียมสนิท ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่นกล่าวรายงานว่า การประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการ ด้านตลาดทั้งในและต่างประเทศ ในอุตสาหกรรมอาหารโปรตีนทางเลือกจากแมลง โดยเน้นที่จิ้งหรีดเป็นสำคัญ แนวทางส่งเสริมการยกระดับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดให้เข้าสู่ห่วงโซ่อุปทาน อุตสาหกรรมอาหารโปรตีนจากแมลง ตลอดจนแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง เป็นการจัดประชุมต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาซึ่งมุ่งเน้นแนวทางการยกระดับเข้าสู่มาตรฐานฟาร์มปลอดภัย ถือเป็นการสร้างกระแสการรับรู้ประโยชน์ของจิ้งหรีดที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ให้เป็นแหล่งอาหารแห่งอนาคต

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัย

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ประธานในพิธีกล่าวเปิดการประชุมว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น ยินดีต้อนรับทุกท่านที่เข้าร่วมการประชุมวิชาการจิ้งหรีดอีสานครั้งที่ 2 ในวันนี้ และขอขอบคุณสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ได้จัดการประชุมวิชาการ และได้รับความสนใจจากผู้เข้าประชุมจำนวนมาก เป็นที่ทราบชัดเจนว่า อุตสาหกรรมอาหารโปรตีนทางเลือกจากแมลงเป็นอาหารแห่งอนาคตที่มีลู่ทางแจ่มใสในตลาดต่างประเทศ ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดและประชาชนในภาคอีสานมีความรู้ความชำนาญ คุ้นชิน นิยมบริโภคมานาน เป็นองค์ความรู้ของพื้นถิ่น ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดสมัยใหม่ นับว่าเป็นโอกาสอย่างยิ่งที่จะยกระดับ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อันจะนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม และรายได้ให้ต่อเนื่องและยั่งยืน หากสามารถบูรณาการกระบวนการทำงานทั้งภาคราชการ ภาควิชาการ ภาคกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีด และภาคปฏิบัติการในอุตสาหกรรมอาหารให้สนับสนุน สอดคล้องซึ่งกันและกัน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ได้ ดังนั้น การจัดประชุมวิชาการในวันนี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของการประสานความร่วมมือเพื่อบูรณาการในประเด็นสำคัญดังกล่าว ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นยินดีสนับสนุนในภารกิจและเชิญชวนนักวิชาการ ตลอดจนภาคราชการและภาคธุรกิจ สภาอุตสาหกรรม ตลอดจนกลุ่มเกษตรกรร่วมมือกัน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านเกษตรและอาหารตามนโยบายของรัฐบาล

     

สถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้จัดทำโครงการพัฒนาเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือสู่ระบบการผลิตที่ได้มาตรฐานปลอดภัย ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ฝ่ายเกษตร ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2562-2564 โดยใช้พื้นที่บ้านแสนตอ ตำบลบัวใหญ่ อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น และบ้านฮ่องฮี ตำบลยางตลาด อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นพื้นที่โครงการ ซึ่งขณะนี้ได้สนับสนุนเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดบ้านแสนตอได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด หรือ GAP จำนวน 21 ฟาร์ม เป็นจำนวนที่มากที่สุดในประเทศไทย และมีฟาร์มจิ้งหรีดพร้อมที่จะยื่นขอการรับรองเพิ่มเติมอีกจำนวน 10 ฟาร์ม ส่วนบ้านฮ่องฮี ปัจจุบันนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงฟาร์มเพื่อยื่นขอการรับรองมาตรฐาน GAP จำนวน 11 ฟาร์ม ซึ่งได้รับอนุมัติโครงการเงินกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ตลอดจนสามารถสนับสนุนการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน มีโครงสร้างและระบบการบริหารที่เหมาะสม ภายใต้การประสานความร่วมมือจากส่วนราชการต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรมกระทรวงมหาดไทย ตลอดจนหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐและเอกชนในพื้นที่การจัดการประชุมวิชาการในวันนี้จึงมุ่งเน้นที่ด้านการตลาดเพื่อแสวงหากลไกในการขับเคลื่อนให้ครบห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงกลางน้ำ โดยมีตลาดและผู้บริโภคเป็นเป้าหมายสำคัญ เพื่อให้เกษตรกรในภาตะวันออกเฉียงเหนือได้ใช้โอกาสและศักยภาพของตน เรื่องจิ้งหรีดเป็นประเด็นที่สร้างความเข้มแข็งจากความถนัดและความสามารถของเกษตรกรเป็นสำคัญการจัดประชุมวิชาการครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูง ผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการค้า การตลาดระหว่างประเทศจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ การบริหารจัดการฟาร์ม การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า กลุ่มเกษตรกร และภาคเอกชนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยตลอดจนนักวิชาการจากสถาบันอุดมศึกษา ที่จะมานำเสนอความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตการประชุมครั้งนี้

หลังเสร็จสิ้นพิธีเปิดแล้วได้มีการบรรยายพิเศษเรื่อง “ลู่ทางการค้าอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต”โดย นางสาว ณัฐิยา สุจินดา ผู้อำนวยการสานักส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ต่อด้วยการเสวนา “อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต : อนาคตของอีสาน”ร่วมเสวนา โดย นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายวิศิษฏ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ศ.ดร. มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดำเนินการเสวนา โดย รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น และในภาคบ่ายเป็น การเสวนา “จิ้งหรีดอีสาน องค์ความรู้ บทเรียน สู่อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต ”  ร่วมเสวนา โดย น.สพ.นพพร โต๊ะมี สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สพ.ญ. ลัลน์ลลิต สุคนธรัตนสุข บริษัท ลัลน์ลลิต อะกริ ฟู้ดส์ จำกัด รศ.ดร. ศิริธร ศิริอมรพรรณ หัวหน้าหน่วยวิจัยการพัฒนากระบวนการแปรรูปและผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ดำเนินการเสวนา โดย ดร.บุษกรณ์ ลีเจ้ยวะระ วิทยาลัยบัณฑิตศึกษาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และการเสวนา “จาก Local to Global เส้นทางของจิ้งหรีดจะรุ่งหรือร่วง ?” ร่วมเสวนา โดย นาย นนทวัฒน์ บางเอี่ยม ประธานวิสาหกิจชุมชนขวัญใจฟาร์ม จังหวัดพิษณุโลก นายเพ็ชร วงศ์ธรรม ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงเลี้ยงจิ้งหรีดบ้านแสนตอ นางสาว รุจิเรข น้อยเสงี่ยม นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ กองนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร สานักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ดำเนินการเสวนา โดย นายอนุวรรตน์ ศรีสวัสดิ์ สถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสรุปผลปิดการประชุม โดย รองศาสตราจารย์ รังสรรค์ เนียมสนิท ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น