Categories
จิ้งหรีด ตลาดแมลง ผงจิ้งหรีด

“ประภัตร” เดินหน้าส่งเสริมอาชีพเกษตรกรสุพรรณฯ เลี้ยงจิ้งหรีด พร้อมรับซื้อคืน กก.ละ 80 บาท ป้อนโรงงานจิ้งหรีดผง เตรียมส่งออกตลาดต่างประเทศ

“ประภัตร” เดินหน้าส่งเสริมอาชีพเกษตรกรสุพรรณฯ เลี้ยงจิ้งหรีด พร้อมรับซื้อคืน กก.ละ 80 บาท ป้อนโรงงานจิ้งหรีดผง เตรียมส่งออกตลาดต่างประเทศ

“ประภัตร” เดินหน้าส่งเสริมอาชีพเกษตรกรสุพรรณฯ เลี้ยงจิ้งหรีด พร้อมรับซื้อคืน กก.ละ 80 บาท ป้อนโรงงานจิ้งหรีดผง เตรียมส่งออกตลาดต่างประเทศ


เมื่อวันที่ 7 มี.ค. นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการอบรมส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งหรีด ครั้งที่ 1 ภายใต้โครงการส่งเสริมอาชีพ เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร แก้วิกฤตโควิด-19 ซึ่ง สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ร่วมกับกรมปศุสัตว์ จัดขึ้น โดยมีนายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการ มกอช. นายอาชว์ ชัยชาญ อธิบดีกรมการข้าว นายพิทักษ์ ชายสม ผู้อำนวยการกลุ่มมาตรฐานสุขอนามัยสัตว์ และนายชนวัฒน์ สิทธิธูรณ์ ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายระหว่างประเทศ กองนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร นายวิวัฒน์ ไชยชะอุ่ม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ รวมทั้ง ปศุสัตว์จังหวัด หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ร่วมต้อนรับ

 

นายประภัตร โพธสุธน กล่าวว่า รัฐบาลได้ตระหนักและมีความเป็นห่วงเกษตรกร และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และผลกระทบจากภัยพิบัติ ทั้งอุทกภัยและภัยแล้งตลอดจนผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จึงมีนโยบายเร่งด่วนเพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชน ให้สามารถประกอบอาชีพและสร้างรายได้ ซึ่งวันนี้อาชีพหนึ่งที่น่าส่งเสริมมากที่สุด คือ การเลี้ยงจิ้งหรีด เนื่องจากเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว และมีคุณประโยชน์ทางด้านโปรตีน ใช้ต้นทุนเพียง 4,500-5,000 บาท และปัจจุบันนจิ้งหรีดเป็นที่ต้องการของตลาดโลก ได้แก่ สหรัฐฯ เม็กซิโก นิวซีแลนด์ และประเทศในยุโรป

ดังนั้น จึงได้มีการจัดอบรมเกษตรกรผู้สนใจเลี้ยงจิ้งหรีด เป็นอาชีพเสริม ในพื้นที่ 4 อำเภอ ของจังหวัดสุพรรณบุรี ได้แก่ อำเภอวังน้ำทรัพย์ อำเภอวังยาง อำเภอดอนเจดีย์ และอำเภอสามชุก จำนวน 300 คน พร้อมสนับสนุนอุปกรณ์ในการเลี้ยงฟรี อาทิ ลังเลี้ยงจิ้งหรีด ไข่จิ้งหรีด รวมทั้งเปิดรับซื้อจิ้งหรีดคืนจากเกษตรกรกิโลกรัมละ 80 บาท นอกจากนี้ มีการสร้างโรงงานแปรรูปจิ้งหรีดผง เพื่อส่งออกจำหน่ายให้กับตลาดต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกษตรกรเชื่อมั่นว่าเลี้ยงแล้วมีตลาดรองรับที่แน่นอน

ด้านนายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการ มกอช. กล่าวว่า การส่งออกจิ้งหรีดไปยังประเทศต่างๆ ฟาร์มจิ้งหรีดจะต้องได้การรับรองมาตรฐาน ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย มกอช. ได้ประกาศมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด (มกษ.8202-2560) เป็นมาตรฐานทั่วไป เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อความปลอดภัยของผลิตผลจากจิ้งหรีด โดยมีกรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการตรวจรับรอง ดังนั้น เกษตรกรที่เลี้ยงจิ้งหรีดจะต้องปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐาน และสามารถยื่นขอการรับรองมาตรฐานฟาร์มจิ้งหรีด GAP ได้ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด เมื่อผ่านการรับรองมาตรฐานแล้วก็สามารถส่งจิ้งหรีดไปยังโรงงานแปรรูป ทำให้กระบวนการส่งออกง่ายขึ้น เพราะดำเนินการตามเกณฑ์คู่ค้าต้องการ รวมทั้งเป็นการขยายตลาดจิ้งหรีดของไทยไปทั่วโลก

Categories
จิ้งหรีด ตลาดแมลง แมลง

เชฟชื่อดังโชว์เปิบเมนูเด็ดอาหารจากจิ้งหรีด

ประภัตร”นำเชฟชื่อดังโชว์เปิบเมนูเด็ดอาหารจากจิ้งหรีดเพื่อสุขภาพสู่ระดับภัตตาคารและตลาดโลกก่อนเดินหน้าหนุนเกษตรกรเลี้ยงจิ้งหรีดสร้างรายเสริม
เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้เชิญ”เชฟโอ๊ต อิทธิกร สรศาสตร์”จากร้าน Insect In The Backyard และ “เชฟ เกษร แม่นแก้ว”จากร้าน CnC cafe มาแนะนำวัตถุดิบที่มีส่วนผสมของแมลงกินได้และจิ้งหรีด เพื่อนำมาประกอบอาหาร รวมทั้งโชว์เคล็ดลับ เทคนิคในการปรุงเมนูอาหารที่มีส่วนผสมของแมลงกินได้และจิ้งหรีด ให้อร่อย และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ซึ่งมีเมนู ดังนี้

1. ซีซาร์สลัด ด้วงสาคู
2. นาโชส์แมลง
3. แมลงรวมผัดพริกเกลือ
4. พาสต้าเส้นสะดิ้งผัดแห้งด้วงสาคู
5. มัลเบอร์รี่ชีสพายสะดิ้ง
6. ข้าวจี่
7. น้ำพริกเผา
8. ข้าวผัดจิ้งหรีด

โดยมีที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยฯนายรัฐชทรัพย์ นิชิด้า นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ นายกฤษ อุตตมะเวทิน รองเลขาธิการ มกอช. นายชนวัฒน์ สิทธิธูรณ์ ผู้อำนวยการกลุ่ม นโยบายระหว่างประเทศที่ 3 มกอช. และกรมปศุสัตว์ ร่วมชมการแนะนำและ สาธิตการปรุงอาหารในครั้งนี้ ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ทั้งนี้นายประภัตรฯเปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการประชุมหารือร่วมกับ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ ผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ ภาคเอกชนผู้ผลิต/แปรรูป และจำหน่ายจิ้งหรีด-ผลิตภัณฑ์ (ขวัญใจฟาร์ม และเปี่ยมสุขฟาร์ม) โดยให้กลุ่มเกษตรกรจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นกลุ่มปฏิบัตินำร่องเพื่อเตรียมการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงจิ้งหรีดในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อเสริมสร้างรายได้ กระจายโอกาส ช่วยแก้ปัญหาความยากจน ตลอดจนวางเป้าให้เป็นฐานการผลิตป้อนตลาดโลก โดยมีประเด็นสำคัญ คือส่งเสริมให้มีการตั้งฟาร์มมาตรฐาน GAP เพื่อผลิตจิ้งหรีดคุณภาพ นำร่องที่จังหวัดสุพรรณบุรี รวม 200 รายภายหลังการดำเนินงานในระยะแรกจะมีการประเมินเพื่อขยายผลไปในวงกว้างต่อไป

ทั้งนี้คัดเลือกเกษตรกรเป้าหมาย มอบให้นายกเทศบาลตำบลเป็นผู้รับผิดชอบ สำหรับด้านระบบงานส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งหรีด มอบหมายกรมปศุสัตว์ โดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสุพรรณบุรี ร่วมกับ กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ เป็นผู้ประสานงานที่ส่วนกลาง และให้ “ขวัญใจฟาร์ม” และ “เปี่ยมสุขฟาร์ม” เป็นผู้รับซื้อผลผลิตในราคาประกัน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ตลอดจนมอบให้ มกอช. ร่วมกับกรมปศุสัตว์ให้คำแนะนำด้านการจัดทำมาตรฐานฟาร์ม GAP แก่เกษตรกร และให้กรมปศุสัตว์ โดยสำนักพัฒนาอาหารสัตว์ คิดสูตรอาหารสัตว์ที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงจิ้งหรีด เป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรได้ใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ในท้องถิ่นราคาถูก มาผสมอาหารสัตว์ใช้เองนำไปเลี้ยงสัตว์ให้เหมาะสมกับระยะการเจริญเติบโต และให้ผลผลิตของสัตว์เลี้ยง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์

นอกจากนี้ยังได้มีการประชุมวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกับคณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก เพื่อหารือแนวทางในการส่งเสริมเกษตรกรให้มีอาชีพเลี้ยงสัตว์ เพิ่อสร้างรายได้ ให้กับเกษตรกรและเตรียมเดินหน้าขับเคลื่อนร่วมกัน ซึ่งทางมหาวิทยาลัยนเรศวรยินดีให้คำแนะนำและพร้อมสนับสนุนให้เกษตรกรได้มีอาชีพที่มั่นคง ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 (COVID-19) คลี่คลายก็ที่จะ พร้อมเดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

Categories
จิ้งหรีด ตลาดแมลง

ประภัตร “หนุนสุพรรณบุรี” เลี้ยงจิ้งหรีดป้อนตลาดโลก

ประภัตร เตรียมส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงจิ้งหรีด ในจ.สุพรรณบุรี ตั้งเป้าเป็นฐานการผลิตป้อนตลาดโลก ประสานทุกหน่วยงาน ปั้นฟาร์มจีเอพี พัฒนาสูตรอาหาร ดึงขวัญใจฟาร์ม” และ “เปี่ยมสุขฟาร์ม รับซื้อ

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้หารือร่วมกับ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ ผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ ภาคเอกชนผู้ผลิต/แปรรูป และจำหน่ายจิ้งหรีด-ผลิตภัณฑ์ (ขวัญใจฟาร์ม และเปี่ยมสุขฟาร์ม) กลุ่มเกษตรกรจังหวัดสุพรรณบุรี กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร เป็นต้น

เพื่อเตรียมการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงจิ้งหรีดในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อเสริมสร้างรายได้ กระจายโอกาส ช่วยแก้ปัญหาความยากจน ตลอดจนวางเป้าให้เป็นฐานการผลิตป้อนตลาดโลก โดยมีประเด็นสำคัญ คือส่งเสริมให้มีการตั้งฟาร์มมาตรฐาน GAP เพื่อผลิตจิ้งหรีดคุณภาพ นำร่องที่จังหวัดสุพรรณบุรี รวม 200 รายๆ ละ 5 กล่อง ภายหลังการดำเนินงานในระยะแรกจะมีการประเมินเพื่อขยายผลไปในวงกว้างต่อไป

โดยคัดเลือกเกษตรกรเป้าหมาย มอบให้นายกเทศบาลตำบลเป็นผู้รับผิดชอบ สำหรับด้านระบบงานส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งหรีด มอบหมายกรมปศุสัตว์ โดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสุพรรณบุรี ร่วมกับ กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ เป็นผู้ประสานงานที่ส่วนกลาง และให้ “ขวัญใจฟาร์ม” และ “เปี่ยมสุขฟาร์ม” เป็นผู้รับซื้อผลผลิตในราคาประกัน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร

ทั้งนี้ มกอช.จะร่วมกับกรมปศุสัตว์ให้คำแนะนำด้านการจัดทำมาตรฐานฟาร์ม GAP แก่เกษตรกร และให้กรมปศุสัตว์ โดยสำนักพัฒนาอาหารสัตว์ คิดสูตรอาหารสัตว์ที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงจิ้งหรีด เป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรได้ใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ในท้องถิ่นราคาถูก มาผสมอาหารสัตว์ใช้เองนำไปเลี้ยงสัตว์ให้เหมาะสมกับระยะการเจริญเติบโต และให้ผลผลิตของสัตว์เลี้ยง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์

โดยได้ประชุมวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกับคณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก เพื่อหารือแนวทางในการส่งเสริมเกษตรกรให้มีอาชีพเลี้ยงสัตว์ สร้างรายได้ โดยเตรียมเดินหน้าขับเคลื่อนร่วมกัน ซึ่งทางมหาวิทยาลัยนเรศวรยินดีให้คำแนะนำและพร้อมสนับสนุนให้เกษตรกรได้มีอาชีพที่มั่นคง อย่างไรก็ตามภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 (COVID-19) คลี่คลายแล้ว พร้อมเดินหน้าเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่พี่น้องเกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรม

Categories
จิ้งหรีด ตลาดแมลง ผงจิ้งหรีด แมลง

ขายแมลงให้เป็นธุรกิจ ทำเงินไว ส่งออกได้ทั่วโลก

Main Idea

คนไทยรู้จักการบริโภคแมลงมานานเป็นร้อยปี แต่ธุรกิจเพาะเลี้ยงแมลงในประเทศเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 15-20 ปีก่อน โดยแมลงซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกที่สำคัญ ไม่เพียงเป็นที่ต้องการสำหรับตลาดในประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นที่ต้องการในต่างประเทศอีกด้วย จึงเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจฟาร์มแมลงในบ้านเราที่จะขยายตลาดส่งออกให้มากขึ้น

การเพาะเลี้ยงแมลง สามารถสร้างรายได้ให้ทั้งการทำเป็นอาชีพเสริม และการลงทุนฟาร์มมาตรฐาน แต่หัวใจสำคัญของธุรกิจนี้ คือ “ตลาด”

 

 

จากการค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับฟาร์มจิ้งหรีด และมองเห็นเทรนด์การบริโภค “โปรตีนทางเลือก” ที่ความนิยมเติบโตไปทั่วโลกนั้น เป็นจุดตัดสินใจทำให้เมื่อ 5 ปีก่อน “นนทวัฒน์ บางเอี่ยม” ผันตัวเองจากนักวิจัยมาเป็นเจ้าของกิจการฟาร์มจิ้งหรีด และจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขวัญใจฟาร์ม ผลิตและจำหน่ายแมลงแช่แข็งภายใต้แบรนด์ “ขวัญใจฟาร์มจิ้งหรีด” ส่งจำหน่ายในโมเดิร์นเทรดทั่วประเทศ

โดยโปรตีนจากแมลงนั้น พบว่ามีคุณภาพใกล้เคียงกับเนื้อปลา อีกทั้งหลายประเทศทั่วโลกนิยมบริโภคแมลงอย่างน้อย 1-2 ชนิด เช่น หนอนนก แมลงสาบชนิดที่กินได้ และแมลงวันลายซึ่งนิยมนำไปผลิตเป็นอาหารสัตว์ ในขณะที่คนไทยกินแมลงมานานแล้ว มีตัวเลขการบริโภคประมาณ 7 พันตันต่อปี มีกลุ่มผู้เลี้ยงแมลงอยู่ 2 หมื่นราย แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นฟาร์มขนาดกลางและเล็ก รวมแล้วผลิตได้ 30-40 กิโลกรัมต่อเดือน ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ส่วนตลาดแปรรูปในประเทศมีผู้ผลิตอยู่เพียง 5-6 รายเท่านั้น

 

“แหล่งที่มาของแมลงในบ้านเรามี 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่เพาะเลี้ยงไม่ได้ แต่จะใช้วิธีการดักจับ และกลุ่มที่เพาะเลี้ยงได้ นั่นก็คือจิ้งหรีด และดักแด้ไหม ซึ่งมีการพัฒนาขั้นตอนการเลี้ยงอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การมีพ่อแม่พันธุ์ การเพาะไข่ เลี้ยงตัวอ่อนและวิธีการจับ อีกทั้งยังมีอาหารสำเร็จรูปสำหรับการเลี้ยงโดยเฉพาะ

แม้ว่าปัจจุบันตลาดในประเทศจะยังไม่เสถียรนัก แต่ตลาดที่จะเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจแมลงของไทยคือ ตลาดส่งออก โดยตลาดส่งออกแมลงของไทยจะแบ่งออกเป็น 3 ตลาดคือ ผงแป้งจากแมลง จะส่งออกไปยังกลุ่มประเทศยุโรปเป็นหลัก ส่วนการแปรรูป เช่นทอด และอบ ตลาดหลักจะอยู่ที่จีน และเวียดนาม สุดท้ายคือแมลงแช่แข็ง เพื่อรักษาสภาพของแมลงไว้ให้มีคุณภาพดังเดิม โดยปัจจุบัน ทางหน่วยงานราชการ ไม่ว่าจะเป็น มกอช. (สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ) และกรมปศุสัตย์ ได้ออกมาตรฐานการเลี้ยงฟาร์มจิ้งหรีดออกมาแล้ว ตลอดจนอบรมวิธีการเลี้ยงที่ถูกต้อง ทำให้ตอนนี้หลายๆ ฟาร์มอยู่ในช่วงของการปรับปรุงและพัฒนาเพื่อให้ได้ตามมาตรฐาน ซึ่งทำให้มองเห็นโอกาสในการส่งออกมากขึ้น

โดยเฉพาะการขยายไปสู่ตลาดใหม่ๆ ที่น่าสนใจ เช่น ประเทศในแถบอเมริกาใต้ อย่างเม็กซิโก คนที่นั่นเขากินแมลงกันเป็นประจำอยู่แล้ว ยังมีตลาด เปรู และ ชิลี ที่มองว่าจิ้งหรีดจากไทยน่าจะเข้าไปทดแทนแมลงดั้งเดิมที่เขากินกันได้ แต่การจะส่งออกไปประเทศเหล่านี้ได้ จะต้องมีวอลุ่มที่ใหญ่มากพอ ดังนั้น ผู้เลี้ยงที่เป็นฟาร์มมาตรฐานในบ้านเราควรรวมกลุ่มกันเพื่อให้มีขนาดใหญ่ขึ้น สร้างอำนาจต่อรองและลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ รวมทั้งภาครัฐจะมีความสามารถเข้ามาสนับสนุนได้ชัดเจนมากขึ้นด้วย” นนทวัฒน์ กล่าว

สำหรับผู้ที่สนใจเข้ามาในธุรกิจแมลงนั้น นนทวัฒน์ บอกเล่าจากประสบการณ์ที่สั่งสมมากว่า 5 ปี ว่าการเพาะเลี้ยงแมลงในประเทศจะใช้เงินลงทุนไม่สูงนัก อยู่ที่หลักเกือบๆ หนึ่งแสนบาท ไปจนถึงหลัก 2 แสนบาท สามารถเลี้ยงและจะมีผลผลิตอยู่ที่ประมาณ 100-500 กิโลกรัม ต่อเดือน มีราคาขายปลีกอยู่ที่กิโลกรัมละ 150 บาท จะทำให้ผู้เลี้ยงมีรายได้ต่อเดือนอย่างน้อย 60,000 – 70,000 บาท ซึ่งจะทำให้คืนทุนเร็วมาก

หรือหากต้องการขยายสเกลการเพาะเลี้ยงให้ใหญ่ขึ้นกว่านี้ ผู้เลี้ยงจะต้องขยับมาเป็นการขายส่งด้วย ซึ่งกำไรอาจจะลดลงไปบ้าง และหากสามารถหาตลาดได้ก็จะทำให้อยู่ได้

“ผู้ที่ต้องการจะเข้ามาในธุรกิจนี้ แนะนำว่า หากต้องการทำเป็นอาชีพเสริม มีพื้นที่เลี้ยง และมีตลาดที่สามารถขายเองได้ ก็ทำได้เลยด้วยการลงทุนหาซื้ออุปกรณ์การเลี้ยงมา ลักษณะนี้จะมีกำไรต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 5,000-10,000 บาทเพื่อเป็นรายได้เสริม ส่วนผู้ที่ต้องการลงทุนเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ขึ้น สามารถมาศึกษาโมเดลและวิธีการที่ขวัญใจฟาร์มจิ้งหรีดก่อนได้ แต่สิ่งสำคัญอย่างแรกคือต้องหาตลาดให้ก่อนด้วย ส่วนการเพาะเลี้ยงจะใช้อาหารสำเร็จรูปซึ่งจะมีต้นทุนสูงกว่าการเลี้ยงแบบธรรมชาติ แต่หากตัดสินใจลงทุนแล้ว ขอแนะนำว่าควรทำเป็นฟาร์มมาตรฐานเลย เพื่อการมองหาโอกาสตลาดส่งออกไปยังต่างประเทศ” นนทวัฒน์ กล่าว

เขาย้ำทิ้งท้ายอีกด้วยว่า ตลาดแมลงเศรษฐกิจในบ้านเรายังมีความน่าสนใจอยู่มาก แต่ควรสร้างให้เป็นมาตรฐานเพื่อเป้าหมายด้านตลาดส่งออก ซึ่งตลาดโลกถือเป็นตลาดที่กว้างมาก มีโอกาสเติบโตสูง ที่ผ่านมาพบว่าเติบโตถึง 40 เปอร์เซ็นต์ และในอนาคตอีก 30 ปีข้างหน้า เมื่อจำนวนประชากรโลกเติบโตจาก 7 พันล้านคน เป็น 9 พันล้านคน เวลานั้นแหล่งโปรตีนหลักอาจจะไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคก็เป็นได้

ดังนั้น “แมลง” จึงจะเป็นอีกทางเลือกที่จะทำให้ประชากรโลกได้รับโปรตีนอย่างครบถ้วน

Categories
จิ้งหรีด ตลาดแมลง ผงจิ้งหรีด แมลง

“จิ้งหรีด” สัตว์เศรษฐกิจในอนาคต โปรตีนสูง ต่อยอดอุตสาหกรรมอาหาร

“จิ้งหรีด” สัตว์เศรษฐกิจในอนาคตแปรรูปอาหารเพื่อสุขภาพโปรตีนสูง ต่อยอดอุตสาหกรรมอาหาร

วันที่ 21 กรกฎาคม 2563 เวลา 8.30 น.ที่โรงแรมโฆษะ จังหวัดขอนแก่น สถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดการประชุมวิชาการจิ้งหรีดอีสานสู่อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต โดยมี ข้าราชการ พนักงาน รัฐวิสาหกิจ ภาคีเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ และภาคประชาชน ร่วมงานจำนวน 100 คน โดยได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นประธานกล่าวเปิดงาน

รศ.รังสรรค์ เนียมสนิท ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่นกล่าวรายงานว่า การประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการ ด้านตลาดทั้งในและต่างประเทศ ในอุตสาหกรรมอาหารโปรตีนทางเลือกจากแมลง โดยเน้นที่จิ้งหรีดเป็นสำคัญ แนวทางส่งเสริมการยกระดับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดให้เข้าสู่ห่วงโซ่อุปทาน อุตสาหกรรมอาหารโปรตีนจากแมลง ตลอดจนแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง เป็นการจัดประชุมต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาซึ่งมุ่งเน้นแนวทางการยกระดับเข้าสู่มาตรฐานฟาร์มปลอดภัย ถือเป็นการสร้างกระแสการรับรู้ประโยชน์ของจิ้งหรีดที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ให้เป็นแหล่งอาหารแห่งอนาคต

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัย

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ประธานในพิธีกล่าวเปิดการประชุมว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น ยินดีต้อนรับทุกท่านที่เข้าร่วมการประชุมวิชาการจิ้งหรีดอีสานครั้งที่ 2 ในวันนี้ และขอขอบคุณสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ได้จัดการประชุมวิชาการ และได้รับความสนใจจากผู้เข้าประชุมจำนวนมาก เป็นที่ทราบชัดเจนว่า อุตสาหกรรมอาหารโปรตีนทางเลือกจากแมลงเป็นอาหารแห่งอนาคตที่มีลู่ทางแจ่มใสในตลาดต่างประเทศ ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดและประชาชนในภาคอีสานมีความรู้ความชำนาญ คุ้นชิน นิยมบริโภคมานาน เป็นองค์ความรู้ของพื้นถิ่น ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดสมัยใหม่ นับว่าเป็นโอกาสอย่างยิ่งที่จะยกระดับ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อันจะนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม และรายได้ให้ต่อเนื่องและยั่งยืน หากสามารถบูรณาการกระบวนการทำงานทั้งภาคราชการ ภาควิชาการ ภาคกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีด และภาคปฏิบัติการในอุตสาหกรรมอาหารให้สนับสนุน สอดคล้องซึ่งกันและกัน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ได้ ดังนั้น การจัดประชุมวิชาการในวันนี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของการประสานความร่วมมือเพื่อบูรณาการในประเด็นสำคัญดังกล่าว ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นยินดีสนับสนุนในภารกิจและเชิญชวนนักวิชาการ ตลอดจนภาคราชการและภาคธุรกิจ สภาอุตสาหกรรม ตลอดจนกลุ่มเกษตรกรร่วมมือกัน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านเกษตรและอาหารตามนโยบายของรัฐบาล

     

สถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้จัดทำโครงการพัฒนาเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือสู่ระบบการผลิตที่ได้มาตรฐานปลอดภัย ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ฝ่ายเกษตร ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2562-2564 โดยใช้พื้นที่บ้านแสนตอ ตำบลบัวใหญ่ อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น และบ้านฮ่องฮี ตำบลยางตลาด อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นพื้นที่โครงการ ซึ่งขณะนี้ได้สนับสนุนเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดบ้านแสนตอได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด หรือ GAP จำนวน 21 ฟาร์ม เป็นจำนวนที่มากที่สุดในประเทศไทย และมีฟาร์มจิ้งหรีดพร้อมที่จะยื่นขอการรับรองเพิ่มเติมอีกจำนวน 10 ฟาร์ม ส่วนบ้านฮ่องฮี ปัจจุบันนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงฟาร์มเพื่อยื่นขอการรับรองมาตรฐาน GAP จำนวน 11 ฟาร์ม ซึ่งได้รับอนุมัติโครงการเงินกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ตลอดจนสามารถสนับสนุนการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน มีโครงสร้างและระบบการบริหารที่เหมาะสม ภายใต้การประสานความร่วมมือจากส่วนราชการต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรมกระทรวงมหาดไทย ตลอดจนหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐและเอกชนในพื้นที่การจัดการประชุมวิชาการในวันนี้จึงมุ่งเน้นที่ด้านการตลาดเพื่อแสวงหากลไกในการขับเคลื่อนให้ครบห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงกลางน้ำ โดยมีตลาดและผู้บริโภคเป็นเป้าหมายสำคัญ เพื่อให้เกษตรกรในภาตะวันออกเฉียงเหนือได้ใช้โอกาสและศักยภาพของตน เรื่องจิ้งหรีดเป็นประเด็นที่สร้างความเข้มแข็งจากความถนัดและความสามารถของเกษตรกรเป็นสำคัญการจัดประชุมวิชาการครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูง ผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการค้า การตลาดระหว่างประเทศจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ การบริหารจัดการฟาร์ม การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า กลุ่มเกษตรกร และภาคเอกชนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยตลอดจนนักวิชาการจากสถาบันอุดมศึกษา ที่จะมานำเสนอความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตการประชุมครั้งนี้

หลังเสร็จสิ้นพิธีเปิดแล้วได้มีการบรรยายพิเศษเรื่อง “ลู่ทางการค้าอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต”โดย นางสาว ณัฐิยา สุจินดา ผู้อำนวยการสานักส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ต่อด้วยการเสวนา “อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต : อนาคตของอีสาน”ร่วมเสวนา โดย นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายวิศิษฏ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ศ.ดร. มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดำเนินการเสวนา โดย รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น และในภาคบ่ายเป็น การเสวนา “จิ้งหรีดอีสาน องค์ความรู้ บทเรียน สู่อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต ”  ร่วมเสวนา โดย น.สพ.นพพร โต๊ะมี สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สพ.ญ. ลัลน์ลลิต สุคนธรัตนสุข บริษัท ลัลน์ลลิต อะกริ ฟู้ดส์ จำกัด รศ.ดร. ศิริธร ศิริอมรพรรณ หัวหน้าหน่วยวิจัยการพัฒนากระบวนการแปรรูปและผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ดำเนินการเสวนา โดย ดร.บุษกรณ์ ลีเจ้ยวะระ วิทยาลัยบัณฑิตศึกษาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และการเสวนา “จาก Local to Global เส้นทางของจิ้งหรีดจะรุ่งหรือร่วง ?” ร่วมเสวนา โดย นาย นนทวัฒน์ บางเอี่ยม ประธานวิสาหกิจชุมชนขวัญใจฟาร์ม จังหวัดพิษณุโลก นายเพ็ชร วงศ์ธรรม ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงเลี้ยงจิ้งหรีดบ้านแสนตอ นางสาว รุจิเรข น้อยเสงี่ยม นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ กองนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร สานักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ดำเนินการเสวนา โดย นายอนุวรรตน์ ศรีสวัสดิ์ สถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสรุปผลปิดการประชุม โดย รองศาสตราจารย์ รังสรรค์ เนียมสนิท ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Categories
จิ้งหรีด ตลาดแมลง

ขวัญใจฟาร์มยกระดับจิ้งหรีดสู่ตลาดโมเดิร์นเทรด

ใครจะคิดว่าวันหนึ่ง “แมลง” อย่างจิ้งหรีดจะสามารถเพาะเลี้ยงได้ โดยไม่จำเป็นต้องขุดหรือใช้ไฟดักเหมือนสมัยก่อน ซึ่งคนเจนใหม่ยุคดิจิตอลอาจนึกภาพเหล่านั้นไม่ออก แต่ไม่เป็นไรเพราะเชื่อว่าหลายคนคงเคยเลื่อนเจอฟีดข่าวในสื่อโซเชียลที่พาดหัวกันว่า “แมลงโปรตีนแห่งอนาคต” หรือ “แมลงเงินล้าน สามารถส่งออกไปประเทศต่างๆ ได้” ฟังไม่ผิดหรอกนะ เพราะมันคือเรื่องจริง สามารถสร้างเป็นธุรกิจที่ให้ใครคนหนึ่งสามารถจับเงินล้านได้

“แมลง” อาชีพที่ “มาแรง”
จิ้งหรีด เมื่อก่อนไม่ค่อยนิยมบริโภคมากนัก แต่ปัจจุบันได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากจิ้งหรีดมีโปรตีนสูง มีกรดอะมิโนสำคัญหลายชนิด เลี้ยงง่าย โตเร็ว (Life Cycle สั้น) ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงเพียง 35-45 วัน ก็สามารถจับขายได้ สามารถนำมาแปรรูปเป็นอาหารและวัตถุดิบได้หลากหลาย ด้วยเหตุนี้จิ้งหรีดจึงถูกกล่าวถึงว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจอีกตัวที่มาแรงในปัจจุบัน (เชิงพาณิชย์) ที่ต้องเอ่ยเช่นนี้ เพราะจิ้งหรีดกำลังถูกจับตามองและกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดโลก โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรปหรืออียู (EU)


คุณนนทวัฒน์ บางเอี่ยม (โก้) กรรมการผู้จัดการบริษัท ล้านฟาร์มฮัก จำกัด 174/2 หมู่ที่ 7 ตำบลแก่งโสภา อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก และประธานวิสาหกิจชุมชนขวัญใจฟาร์ม ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แมลงแช่แข็ง “ขวัญใจฟาร์มจิ้งหรีด” ที่มีจำหน่ายในแม็คโครทั่วประเทศ ภายใต้ฟาร์มจิ้งหรีดมาตรฐาน GAP เพื่อการส่งออก, สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ GMP ผู้ที่เริ่มธุรกิจแมลงด้วยความสงสัย สร้างเครือข่ายผู้เลี้ยงจิ้งหรีด เติบโตจากศูนย์ทะยานสู่อัตราการผลิต 10 ตัน/เดือน

ความสำเร็จมาเยือนนักธุรกิจหนุ่มโดยเกิดขึ้นจากความสงสัย เมื่อ 6 ปีก่อน เดินงานเกษตรฯ มีการออกบูธแสดงสินค้าปศุสัตว์ เห็นบูธขายแมลงทอด ซึ่งมีกล่องคล้ายๆ ตู้ปลา ภายในมีจิ้งหรีดอาศัยอยู่ พร้อมกับอาหารจิ้งหรีด จึงเกิดคำถามขึ้นว่า “เราสามารถเลี้ยงแมลงได้จริงหรือ?” ด้วยความสงสัยจึงหาข้อมูลเกี่ยวกับแมลงอย่างจริงจังกว่า 1 ปี

ความขยันและการเรียนรู้ก็ทำให้เขาเข้าใจธุรกิจแมลงมากขึ้น และคีย์สำคัญของการทำธุรกิจก็คือ “ตลาด” ปี 57 เขาจึงเข้าไปติดต่อโรงงานเพื่อสอบถามและเสนอสินค้า เมื่อได้ออเดอร์ก็ติดต่อตามบ้านหรือตามป้ายประกาศขายจิ้งหรีด ช่วงแรกพ่อกับแม่ช่วยส่งจิ้งหรีดให้โรงงาน เริ่มจาก 600 กิโลกรัม/เดือน เพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ สูงสุดที่ 6-7 ตัน/เดือน ภายในระยะเวลา 4 เดือน แสดงให้เห็นว่าตลาดแมลง (จิ้งหรีด) สามารถเติบโตได้ จึงตัดสินใจทำ “ขวัญใจฟาร์ม” ในปี 58

ทำฟาร์มเพื่อควบคุม “คุณภาพ”

ขณะเดียวกันการสร้างความเชื่อมั่นให้กับบริษัทที่รับซื้อแมลงโดยการเพิ่มปริมาณการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดนั้น เลี้ยงเองอาจทำได้ดีมากนัก จึงสร้างเครือข่าย “วิสาหกิจชุมชนขวัญใจฟาร์ม จังหวัดพิษณุโลก” ทำให้เกษตรกรในชุมชนมีส่วนร่วม มีการทำข้อตกลงเรื่องสายพันธุ์ อาหาร จัดอบรมความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยง การจัดการ และการพัฒนาสู่มาตรฐานเดียวกัน “ขวัญใจฟาร์ม” คือโมเดลหลัก

“การส่งเสริมการเลี้ยง และการสร้างความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจร่วมกับเกษตรกร หน่วยงานรัฐ เรื่องเทคนิคการเลี้ยง สายพันธุ์สัตว์ จากกรมส่งเสริมการเกษตร จังหวัดอุตรดิตถ์ การให้คำปรึกษา นอกจากนี้ยังส่งเสริมโดยร่วมกับกรมป่าไม้ในการชี้แนะและแนะนำอาชีพให้เกษตรกรที่อยู่ใกล้เขตป่าไม้ให้มีอาชีพแทนการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้

เครือข่ายที่เลี้ยงจิ้งหรีดให้กับขวัญใจฟาร์มจะมีการประกันราคา ทำข้อตกลงก่อนเลี้ยง โดยสายพันธุ์ อาหาร วิธีการเลี้ยง ต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ที่กำหนดและอยู่ไม่ไกลจากบริษัทฯ เพื่อสะดวกในการเข้าเยี่ยมฟาร์ม ส่วนฟาร์มที่ได้รับรองมาตรฐาน GAP จะส่งจำหน่ายเข้าตลาดโมเดิร์นเทรด”

ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งฟาร์มขนาดกลางและเล็ก จำนวน 26 ราย (รายครอบครัว) ที่ร่วมมือกัน มีอัตราผลิตทั้งจิ้งหรีดขาว (สะดิ้ง) และทองดำ ประมาณ 10 ตัน/เดือน


มาถึงตอนนี้หลายคนคงสงสัยเรื่องวิธีการ และอาหารที่เลี้ยงได้มาตรฐาน มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคอย่างไร บริษัท ล้านฟาร์มฮักฯ ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เช่นกัน ดังนั้นการได้รับรองมาตรฐาน GAP จากกรมปศุสัตว์ และ อย. กระทรวงสาธารณสุข พร้อมโรงงานแปรรูปที่ได้มาตรฐาน GMP เป็นการคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นอย่างยิ่ง

บริษัท ล้านฟาร์มฮักฯ ถือเป็นเจ้าแรกๆที่นำแมลงขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (Food and Drug Administration) หรือ อย. และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อรับรองว่าปลอดภัยและสามารถบริโภคได้ เป็นความภาคภูมิใจของบริษัทเป็นอย่างมาก เพราะถือว่าเป็นการยกระดับการเลี้ยงแมลงให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น

“สร้างโรงงานขึ้นในปี 60 พร้อมกับขอ อย. และมาตรฐานฟาร์ม เพื่อการส่งออก ทั้งหมดนี้ถือเป็นสิ่งที่ทำเพื่อลูกค้าและผู้บริโภคในเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยทั้งกระบวนการผลิต”

ผลิตภัณฑ์แมลงแช่แข็ง “ขวัญใจฟาร์มจิ้งหรีด”
Modern Trade ช่องทางขายแมลง

บริษัท ล้านฟาร์มฮักฯ มีตลาดโมเดิร์นเทรดหรือห้างสรรพสินค้า (แม็คโคร) เป็นตลาดหลัก นอกจากนี้ยังมีส่งออกไปยังตลาดประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศกัมพูชาอีกด้วย

“ขวัญใจฟาร์มจิ้งหรีด” แบรนด์แมลงคุณภาพ

1. มีการตรวจสอบด้านกายภาพ 100% ทุกถุงบรรจุที่ส่งให้

2. มีการตรวจสอบทางด้านเคมี ไม่ว่าจะเป็นโลหะหนัก รวมถึงกลุ่มยาฆ่าแมลงด้วย เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่าแมลงที่มาจากบริษัทมีการดูแลทุกกระบวนการผลิต

3. มีการตรวจสอบเชื้อก่อโรค (Pathogen) ต่างๆ ในแมลงที่มีผลต่อคน

กระบวนต่างๆ เหล่านี้คือสิ่งที่บริษัทคำนึงถึงผู้บริโภคเป็นหลัก

สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขวัญใจฟาร์ม มีตลาดรองรับที่แน่นอน และมองหาโอกาสทางธุรกิจเสมอ ทั้งตลาดกลุ่มสหภาพยุโรป อเมริกาใต้ และตลาดประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เวียดนาม กัมพูชา จีน และญี่ปุ่น “เราไม่หยุดหาตลาด เพราะในมุมมองของการทำธุรกิจจะใช้ตลาดนำการผลิต จึงเป็นสิ่งที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับคนเลี้ยงได้”

มุมมองต่อธุรกิจแมลง เขามองว่าไม่ว่าจะผ่านไปสักกี่ปีก็ยังมีการบริโภคจิ้งหรีดอยู่ดี อาจจะไม่ใช่อาหารหลัก แต่อาจเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับบางพื้นที่ และมองว่าการเลี้ยงแมลงเป็นการดำเนินธุรกิจให้มุ่งสู่ “เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือเซอร์คูลาร์อีโคโนมี” (Circular Economy) ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่หลายๆ บริษัทใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เนื่องจากแมลงเป็นสัตว์ที่กินอาหารน้อยมากเมื่อเทียบกับสัตว์เศรษฐกิจชนิดอื่น และน้ำที่ใช้เลี้ยงแมลง 1 บ่อ (จับขายได้ 20-30 กก.) ใช้น้ำเพียง 1 แกลลอนเท่านั้น ส่วนเรื่องของแก๊สมีเทนที่เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะโลกร้อน แมลงก็ปล่อยน้อยมาก และที่สำคัญการใช้ประโยชน์ “แมลง” สามารถบริโภคได้ทั้งตัว ไม่มีส่วนที่เป็นของเสีย นอกจาก “มูล” ซึ่งก็สามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพดีได้

ดังนั้นวัฎจักรของการเลี้ยงแมลงเป็นอะไรที่สมบูรณ์แบบมาก เพราะไม่เหลือของเสียกลับคืนสู่ธรรมชาติ

เกือบลืมไป ไม่พูดถึงก็ไม่ได้ด้วยสิ จิ้งหรีดจะตัวโต มีรสชาติอร่อย ไข่เต็มท้อง สีเหลืองทอง มัน และมีกลิ่นหอม เกิดจากความตั้งใจของเจ้าของฟาร์มที่ใส่ใจรายละเอียด ขั้นตอนสุดท้ายก่อนจับ เขาจะทำการล้างท้องจิ้งหรีดด้วยการให้กินฟักทอง 2-3 วัน เพื่อให้มั่นใจว่าฟักทองเข้าไปแทนที่อาหารที่อยู่ในระบบทางเดินอาหารทั้งหมด ดังนั้นเมื่อบริโภคแมลงเข้าไปจะไม่รู้สึกถึงกลิ่นของอาหารที่ใช้เลี้ยง แต่จะรู้สึกถึงความหอมมันของฟักทองนั่นเอง #ไปซื้อแมลงที่แม็คโครกัน

ขอขอบคุณ

ปศุศาสตร์นิวส์ สำนักข่าวด้านปศุสัตว์ออนไลน์อันดับหนึ่งของไทย

สนใจติดต่อขวัญใจฟาร์ม

Inbox | m.me/kwanjai.cricket

Line | https://lin.ee/u4oeh0X หรือ @kwanjaifarm

Tel. | 065-449-9464 , 065-449-9459