Categories
จิ้งหรีด ตลาดแมลง ผงจิ้งหรีด แมลง

ขายแมลงให้เป็นธุรกิจ ทำเงินไว ส่งออกได้ทั่วโลก

Main Idea

คนไทยรู้จักการบริโภคแมลงมานานเป็นร้อยปี แต่ธุรกิจเพาะเลี้ยงแมลงในประเทศเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 15-20 ปีก่อน โดยแมลงซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกที่สำคัญ ไม่เพียงเป็นที่ต้องการสำหรับตลาดในประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นที่ต้องการในต่างประเทศอีกด้วย จึงเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจฟาร์มแมลงในบ้านเราที่จะขยายตลาดส่งออกให้มากขึ้น

การเพาะเลี้ยงแมลง สามารถสร้างรายได้ให้ทั้งการทำเป็นอาชีพเสริม และการลงทุนฟาร์มมาตรฐาน แต่หัวใจสำคัญของธุรกิจนี้ คือ “ตลาด”

 

 

จากการค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับฟาร์มจิ้งหรีด และมองเห็นเทรนด์การบริโภค “โปรตีนทางเลือก” ที่ความนิยมเติบโตไปทั่วโลกนั้น เป็นจุดตัดสินใจทำให้เมื่อ 5 ปีก่อน “นนทวัฒน์ บางเอี่ยม” ผันตัวเองจากนักวิจัยมาเป็นเจ้าของกิจการฟาร์มจิ้งหรีด และจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขวัญใจฟาร์ม ผลิตและจำหน่ายแมลงแช่แข็งภายใต้แบรนด์ “ขวัญใจฟาร์มจิ้งหรีด” ส่งจำหน่ายในโมเดิร์นเทรดทั่วประเทศ

โดยโปรตีนจากแมลงนั้น พบว่ามีคุณภาพใกล้เคียงกับเนื้อปลา อีกทั้งหลายประเทศทั่วโลกนิยมบริโภคแมลงอย่างน้อย 1-2 ชนิด เช่น หนอนนก แมลงสาบชนิดที่กินได้ และแมลงวันลายซึ่งนิยมนำไปผลิตเป็นอาหารสัตว์ ในขณะที่คนไทยกินแมลงมานานแล้ว มีตัวเลขการบริโภคประมาณ 7 พันตันต่อปี มีกลุ่มผู้เลี้ยงแมลงอยู่ 2 หมื่นราย แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นฟาร์มขนาดกลางและเล็ก รวมแล้วผลิตได้ 30-40 กิโลกรัมต่อเดือน ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ส่วนตลาดแปรรูปในประเทศมีผู้ผลิตอยู่เพียง 5-6 รายเท่านั้น

 

“แหล่งที่มาของแมลงในบ้านเรามี 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่เพาะเลี้ยงไม่ได้ แต่จะใช้วิธีการดักจับ และกลุ่มที่เพาะเลี้ยงได้ นั่นก็คือจิ้งหรีด และดักแด้ไหม ซึ่งมีการพัฒนาขั้นตอนการเลี้ยงอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การมีพ่อแม่พันธุ์ การเพาะไข่ เลี้ยงตัวอ่อนและวิธีการจับ อีกทั้งยังมีอาหารสำเร็จรูปสำหรับการเลี้ยงโดยเฉพาะ

แม้ว่าปัจจุบันตลาดในประเทศจะยังไม่เสถียรนัก แต่ตลาดที่จะเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจแมลงของไทยคือ ตลาดส่งออก โดยตลาดส่งออกแมลงของไทยจะแบ่งออกเป็น 3 ตลาดคือ ผงแป้งจากแมลง จะส่งออกไปยังกลุ่มประเทศยุโรปเป็นหลัก ส่วนการแปรรูป เช่นทอด และอบ ตลาดหลักจะอยู่ที่จีน และเวียดนาม สุดท้ายคือแมลงแช่แข็ง เพื่อรักษาสภาพของแมลงไว้ให้มีคุณภาพดังเดิม โดยปัจจุบัน ทางหน่วยงานราชการ ไม่ว่าจะเป็น มกอช. (สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ) และกรมปศุสัตย์ ได้ออกมาตรฐานการเลี้ยงฟาร์มจิ้งหรีดออกมาแล้ว ตลอดจนอบรมวิธีการเลี้ยงที่ถูกต้อง ทำให้ตอนนี้หลายๆ ฟาร์มอยู่ในช่วงของการปรับปรุงและพัฒนาเพื่อให้ได้ตามมาตรฐาน ซึ่งทำให้มองเห็นโอกาสในการส่งออกมากขึ้น

โดยเฉพาะการขยายไปสู่ตลาดใหม่ๆ ที่น่าสนใจ เช่น ประเทศในแถบอเมริกาใต้ อย่างเม็กซิโก คนที่นั่นเขากินแมลงกันเป็นประจำอยู่แล้ว ยังมีตลาด เปรู และ ชิลี ที่มองว่าจิ้งหรีดจากไทยน่าจะเข้าไปทดแทนแมลงดั้งเดิมที่เขากินกันได้ แต่การจะส่งออกไปประเทศเหล่านี้ได้ จะต้องมีวอลุ่มที่ใหญ่มากพอ ดังนั้น ผู้เลี้ยงที่เป็นฟาร์มมาตรฐานในบ้านเราควรรวมกลุ่มกันเพื่อให้มีขนาดใหญ่ขึ้น สร้างอำนาจต่อรองและลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ รวมทั้งภาครัฐจะมีความสามารถเข้ามาสนับสนุนได้ชัดเจนมากขึ้นด้วย” นนทวัฒน์ กล่าว

สำหรับผู้ที่สนใจเข้ามาในธุรกิจแมลงนั้น นนทวัฒน์ บอกเล่าจากประสบการณ์ที่สั่งสมมากว่า 5 ปี ว่าการเพาะเลี้ยงแมลงในประเทศจะใช้เงินลงทุนไม่สูงนัก อยู่ที่หลักเกือบๆ หนึ่งแสนบาท ไปจนถึงหลัก 2 แสนบาท สามารถเลี้ยงและจะมีผลผลิตอยู่ที่ประมาณ 100-500 กิโลกรัม ต่อเดือน มีราคาขายปลีกอยู่ที่กิโลกรัมละ 150 บาท จะทำให้ผู้เลี้ยงมีรายได้ต่อเดือนอย่างน้อย 60,000 – 70,000 บาท ซึ่งจะทำให้คืนทุนเร็วมาก

หรือหากต้องการขยายสเกลการเพาะเลี้ยงให้ใหญ่ขึ้นกว่านี้ ผู้เลี้ยงจะต้องขยับมาเป็นการขายส่งด้วย ซึ่งกำไรอาจจะลดลงไปบ้าง และหากสามารถหาตลาดได้ก็จะทำให้อยู่ได้

“ผู้ที่ต้องการจะเข้ามาในธุรกิจนี้ แนะนำว่า หากต้องการทำเป็นอาชีพเสริม มีพื้นที่เลี้ยง และมีตลาดที่สามารถขายเองได้ ก็ทำได้เลยด้วยการลงทุนหาซื้ออุปกรณ์การเลี้ยงมา ลักษณะนี้จะมีกำไรต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 5,000-10,000 บาทเพื่อเป็นรายได้เสริม ส่วนผู้ที่ต้องการลงทุนเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ขึ้น สามารถมาศึกษาโมเดลและวิธีการที่ขวัญใจฟาร์มจิ้งหรีดก่อนได้ แต่สิ่งสำคัญอย่างแรกคือต้องหาตลาดให้ก่อนด้วย ส่วนการเพาะเลี้ยงจะใช้อาหารสำเร็จรูปซึ่งจะมีต้นทุนสูงกว่าการเลี้ยงแบบธรรมชาติ แต่หากตัดสินใจลงทุนแล้ว ขอแนะนำว่าควรทำเป็นฟาร์มมาตรฐานเลย เพื่อการมองหาโอกาสตลาดส่งออกไปยังต่างประเทศ” นนทวัฒน์ กล่าว

เขาย้ำทิ้งท้ายอีกด้วยว่า ตลาดแมลงเศรษฐกิจในบ้านเรายังมีความน่าสนใจอยู่มาก แต่ควรสร้างให้เป็นมาตรฐานเพื่อเป้าหมายด้านตลาดส่งออก ซึ่งตลาดโลกถือเป็นตลาดที่กว้างมาก มีโอกาสเติบโตสูง ที่ผ่านมาพบว่าเติบโตถึง 40 เปอร์เซ็นต์ และในอนาคตอีก 30 ปีข้างหน้า เมื่อจำนวนประชากรโลกเติบโตจาก 7 พันล้านคน เป็น 9 พันล้านคน เวลานั้นแหล่งโปรตีนหลักอาจจะไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคก็เป็นได้

ดังนั้น “แมลง” จึงจะเป็นอีกทางเลือกที่จะทำให้ประชากรโลกได้รับโปรตีนอย่างครบถ้วน

Categories
จิ้งหรีด ตลาดแมลง

ขวัญใจฟาร์มยกระดับจิ้งหรีดสู่ตลาดโมเดิร์นเทรด

ใครจะคิดว่าวันหนึ่ง “แมลง” อย่างจิ้งหรีดจะสามารถเพาะเลี้ยงได้ โดยไม่จำเป็นต้องขุดหรือใช้ไฟดักเหมือนสมัยก่อน ซึ่งคนเจนใหม่ยุคดิจิตอลอาจนึกภาพเหล่านั้นไม่ออก แต่ไม่เป็นไรเพราะเชื่อว่าหลายคนคงเคยเลื่อนเจอฟีดข่าวในสื่อโซเชียลที่พาดหัวกันว่า “แมลงโปรตีนแห่งอนาคต” หรือ “แมลงเงินล้าน สามารถส่งออกไปประเทศต่างๆ ได้” ฟังไม่ผิดหรอกนะ เพราะมันคือเรื่องจริง สามารถสร้างเป็นธุรกิจที่ให้ใครคนหนึ่งสามารถจับเงินล้านได้

“แมลง” อาชีพที่ “มาแรง”
จิ้งหรีด เมื่อก่อนไม่ค่อยนิยมบริโภคมากนัก แต่ปัจจุบันได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากจิ้งหรีดมีโปรตีนสูง มีกรดอะมิโนสำคัญหลายชนิด เลี้ยงง่าย โตเร็ว (Life Cycle สั้น) ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงเพียง 35-45 วัน ก็สามารถจับขายได้ สามารถนำมาแปรรูปเป็นอาหารและวัตถุดิบได้หลากหลาย ด้วยเหตุนี้จิ้งหรีดจึงถูกกล่าวถึงว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจอีกตัวที่มาแรงในปัจจุบัน (เชิงพาณิชย์) ที่ต้องเอ่ยเช่นนี้ เพราะจิ้งหรีดกำลังถูกจับตามองและกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดโลก โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรปหรืออียู (EU)


คุณนนทวัฒน์ บางเอี่ยม (โก้) กรรมการผู้จัดการบริษัท ล้านฟาร์มฮัก จำกัด 174/2 หมู่ที่ 7 ตำบลแก่งโสภา อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก และประธานวิสาหกิจชุมชนขวัญใจฟาร์ม ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แมลงแช่แข็ง “ขวัญใจฟาร์มจิ้งหรีด” ที่มีจำหน่ายในแม็คโครทั่วประเทศ ภายใต้ฟาร์มจิ้งหรีดมาตรฐาน GAP เพื่อการส่งออก, สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ GMP ผู้ที่เริ่มธุรกิจแมลงด้วยความสงสัย สร้างเครือข่ายผู้เลี้ยงจิ้งหรีด เติบโตจากศูนย์ทะยานสู่อัตราการผลิต 10 ตัน/เดือน

ความสำเร็จมาเยือนนักธุรกิจหนุ่มโดยเกิดขึ้นจากความสงสัย เมื่อ 6 ปีก่อน เดินงานเกษตรฯ มีการออกบูธแสดงสินค้าปศุสัตว์ เห็นบูธขายแมลงทอด ซึ่งมีกล่องคล้ายๆ ตู้ปลา ภายในมีจิ้งหรีดอาศัยอยู่ พร้อมกับอาหารจิ้งหรีด จึงเกิดคำถามขึ้นว่า “เราสามารถเลี้ยงแมลงได้จริงหรือ?” ด้วยความสงสัยจึงหาข้อมูลเกี่ยวกับแมลงอย่างจริงจังกว่า 1 ปี

ความขยันและการเรียนรู้ก็ทำให้เขาเข้าใจธุรกิจแมลงมากขึ้น และคีย์สำคัญของการทำธุรกิจก็คือ “ตลาด” ปี 57 เขาจึงเข้าไปติดต่อโรงงานเพื่อสอบถามและเสนอสินค้า เมื่อได้ออเดอร์ก็ติดต่อตามบ้านหรือตามป้ายประกาศขายจิ้งหรีด ช่วงแรกพ่อกับแม่ช่วยส่งจิ้งหรีดให้โรงงาน เริ่มจาก 600 กิโลกรัม/เดือน เพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ สูงสุดที่ 6-7 ตัน/เดือน ภายในระยะเวลา 4 เดือน แสดงให้เห็นว่าตลาดแมลง (จิ้งหรีด) สามารถเติบโตได้ จึงตัดสินใจทำ “ขวัญใจฟาร์ม” ในปี 58

ทำฟาร์มเพื่อควบคุม “คุณภาพ”

ขณะเดียวกันการสร้างความเชื่อมั่นให้กับบริษัทที่รับซื้อแมลงโดยการเพิ่มปริมาณการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดนั้น เลี้ยงเองอาจทำได้ดีมากนัก จึงสร้างเครือข่าย “วิสาหกิจชุมชนขวัญใจฟาร์ม จังหวัดพิษณุโลก” ทำให้เกษตรกรในชุมชนมีส่วนร่วม มีการทำข้อตกลงเรื่องสายพันธุ์ อาหาร จัดอบรมความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยง การจัดการ และการพัฒนาสู่มาตรฐานเดียวกัน “ขวัญใจฟาร์ม” คือโมเดลหลัก

“การส่งเสริมการเลี้ยง และการสร้างความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจร่วมกับเกษตรกร หน่วยงานรัฐ เรื่องเทคนิคการเลี้ยง สายพันธุ์สัตว์ จากกรมส่งเสริมการเกษตร จังหวัดอุตรดิตถ์ การให้คำปรึกษา นอกจากนี้ยังส่งเสริมโดยร่วมกับกรมป่าไม้ในการชี้แนะและแนะนำอาชีพให้เกษตรกรที่อยู่ใกล้เขตป่าไม้ให้มีอาชีพแทนการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้

เครือข่ายที่เลี้ยงจิ้งหรีดให้กับขวัญใจฟาร์มจะมีการประกันราคา ทำข้อตกลงก่อนเลี้ยง โดยสายพันธุ์ อาหาร วิธีการเลี้ยง ต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ที่กำหนดและอยู่ไม่ไกลจากบริษัทฯ เพื่อสะดวกในการเข้าเยี่ยมฟาร์ม ส่วนฟาร์มที่ได้รับรองมาตรฐาน GAP จะส่งจำหน่ายเข้าตลาดโมเดิร์นเทรด”

ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งฟาร์มขนาดกลางและเล็ก จำนวน 26 ราย (รายครอบครัว) ที่ร่วมมือกัน มีอัตราผลิตทั้งจิ้งหรีดขาว (สะดิ้ง) และทองดำ ประมาณ 10 ตัน/เดือน


มาถึงตอนนี้หลายคนคงสงสัยเรื่องวิธีการ และอาหารที่เลี้ยงได้มาตรฐาน มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคอย่างไร บริษัท ล้านฟาร์มฮักฯ ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เช่นกัน ดังนั้นการได้รับรองมาตรฐาน GAP จากกรมปศุสัตว์ และ อย. กระทรวงสาธารณสุข พร้อมโรงงานแปรรูปที่ได้มาตรฐาน GMP เป็นการคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นอย่างยิ่ง

บริษัท ล้านฟาร์มฮักฯ ถือเป็นเจ้าแรกๆที่นำแมลงขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (Food and Drug Administration) หรือ อย. และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อรับรองว่าปลอดภัยและสามารถบริโภคได้ เป็นความภาคภูมิใจของบริษัทเป็นอย่างมาก เพราะถือว่าเป็นการยกระดับการเลี้ยงแมลงให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น

“สร้างโรงงานขึ้นในปี 60 พร้อมกับขอ อย. และมาตรฐานฟาร์ม เพื่อการส่งออก ทั้งหมดนี้ถือเป็นสิ่งที่ทำเพื่อลูกค้าและผู้บริโภคในเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยทั้งกระบวนการผลิต”

ผลิตภัณฑ์แมลงแช่แข็ง “ขวัญใจฟาร์มจิ้งหรีด”
Modern Trade ช่องทางขายแมลง

บริษัท ล้านฟาร์มฮักฯ มีตลาดโมเดิร์นเทรดหรือห้างสรรพสินค้า (แม็คโคร) เป็นตลาดหลัก นอกจากนี้ยังมีส่งออกไปยังตลาดประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศกัมพูชาอีกด้วย

“ขวัญใจฟาร์มจิ้งหรีด” แบรนด์แมลงคุณภาพ

1. มีการตรวจสอบด้านกายภาพ 100% ทุกถุงบรรจุที่ส่งให้

2. มีการตรวจสอบทางด้านเคมี ไม่ว่าจะเป็นโลหะหนัก รวมถึงกลุ่มยาฆ่าแมลงด้วย เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่าแมลงที่มาจากบริษัทมีการดูแลทุกกระบวนการผลิต

3. มีการตรวจสอบเชื้อก่อโรค (Pathogen) ต่างๆ ในแมลงที่มีผลต่อคน

กระบวนต่างๆ เหล่านี้คือสิ่งที่บริษัทคำนึงถึงผู้บริโภคเป็นหลัก

สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขวัญใจฟาร์ม มีตลาดรองรับที่แน่นอน และมองหาโอกาสทางธุรกิจเสมอ ทั้งตลาดกลุ่มสหภาพยุโรป อเมริกาใต้ และตลาดประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เวียดนาม กัมพูชา จีน และญี่ปุ่น “เราไม่หยุดหาตลาด เพราะในมุมมองของการทำธุรกิจจะใช้ตลาดนำการผลิต จึงเป็นสิ่งที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับคนเลี้ยงได้”

มุมมองต่อธุรกิจแมลง เขามองว่าไม่ว่าจะผ่านไปสักกี่ปีก็ยังมีการบริโภคจิ้งหรีดอยู่ดี อาจจะไม่ใช่อาหารหลัก แต่อาจเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับบางพื้นที่ และมองว่าการเลี้ยงแมลงเป็นการดำเนินธุรกิจให้มุ่งสู่ “เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือเซอร์คูลาร์อีโคโนมี” (Circular Economy) ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่หลายๆ บริษัทใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เนื่องจากแมลงเป็นสัตว์ที่กินอาหารน้อยมากเมื่อเทียบกับสัตว์เศรษฐกิจชนิดอื่น และน้ำที่ใช้เลี้ยงแมลง 1 บ่อ (จับขายได้ 20-30 กก.) ใช้น้ำเพียง 1 แกลลอนเท่านั้น ส่วนเรื่องของแก๊สมีเทนที่เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะโลกร้อน แมลงก็ปล่อยน้อยมาก และที่สำคัญการใช้ประโยชน์ “แมลง” สามารถบริโภคได้ทั้งตัว ไม่มีส่วนที่เป็นของเสีย นอกจาก “มูล” ซึ่งก็สามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพดีได้

ดังนั้นวัฎจักรของการเลี้ยงแมลงเป็นอะไรที่สมบูรณ์แบบมาก เพราะไม่เหลือของเสียกลับคืนสู่ธรรมชาติ

เกือบลืมไป ไม่พูดถึงก็ไม่ได้ด้วยสิ จิ้งหรีดจะตัวโต มีรสชาติอร่อย ไข่เต็มท้อง สีเหลืองทอง มัน และมีกลิ่นหอม เกิดจากความตั้งใจของเจ้าของฟาร์มที่ใส่ใจรายละเอียด ขั้นตอนสุดท้ายก่อนจับ เขาจะทำการล้างท้องจิ้งหรีดด้วยการให้กินฟักทอง 2-3 วัน เพื่อให้มั่นใจว่าฟักทองเข้าไปแทนที่อาหารที่อยู่ในระบบทางเดินอาหารทั้งหมด ดังนั้นเมื่อบริโภคแมลงเข้าไปจะไม่รู้สึกถึงกลิ่นของอาหารที่ใช้เลี้ยง แต่จะรู้สึกถึงความหอมมันของฟักทองนั่นเอง #ไปซื้อแมลงที่แม็คโครกัน

ขอขอบคุณ

ปศุศาสตร์นิวส์ สำนักข่าวด้านปศุสัตว์ออนไลน์อันดับหนึ่งของไทย

สนใจติดต่อขวัญใจฟาร์ม

Inbox | m.me/kwanjai.cricket

Line | https://lin.ee/u4oeh0X หรือ @kwanjaifarm

Tel. | 065-449-9464 , 065-449-9459