Categories
จิ้งหรีด ตลาดแมลง ผงจิ้งหรีด

“ประภัตร” เดินหน้าส่งเสริมอาชีพเกษตรกรสุพรรณฯ เลี้ยงจิ้งหรีด พร้อมรับซื้อคืน กก.ละ 80 บาท ป้อนโรงงานจิ้งหรีดผง เตรียมส่งออกตลาดต่างประเทศ

“ประภัตร” เดินหน้าส่งเสริมอาชีพเกษตรกรสุพรรณฯ เลี้ยงจิ้งหรีด พร้อมรับซื้อคืน กก.ละ 80 บาท ป้อนโรงงานจิ้งหรีดผง เตรียมส่งออกตลาดต่างประเทศ

“ประภัตร” เดินหน้าส่งเสริมอาชีพเกษตรกรสุพรรณฯ เลี้ยงจิ้งหรีด พร้อมรับซื้อคืน กก.ละ 80 บาท ป้อนโรงงานจิ้งหรีดผง เตรียมส่งออกตลาดต่างประเทศ


เมื่อวันที่ 7 มี.ค. นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการอบรมส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งหรีด ครั้งที่ 1 ภายใต้โครงการส่งเสริมอาชีพ เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร แก้วิกฤตโควิด-19 ซึ่ง สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ร่วมกับกรมปศุสัตว์ จัดขึ้น โดยมีนายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการ มกอช. นายอาชว์ ชัยชาญ อธิบดีกรมการข้าว นายพิทักษ์ ชายสม ผู้อำนวยการกลุ่มมาตรฐานสุขอนามัยสัตว์ และนายชนวัฒน์ สิทธิธูรณ์ ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายระหว่างประเทศ กองนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร นายวิวัฒน์ ไชยชะอุ่ม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ รวมทั้ง ปศุสัตว์จังหวัด หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ร่วมต้อนรับ

 

นายประภัตร โพธสุธน กล่าวว่า รัฐบาลได้ตระหนักและมีความเป็นห่วงเกษตรกร และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และผลกระทบจากภัยพิบัติ ทั้งอุทกภัยและภัยแล้งตลอดจนผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จึงมีนโยบายเร่งด่วนเพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชน ให้สามารถประกอบอาชีพและสร้างรายได้ ซึ่งวันนี้อาชีพหนึ่งที่น่าส่งเสริมมากที่สุด คือ การเลี้ยงจิ้งหรีด เนื่องจากเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว และมีคุณประโยชน์ทางด้านโปรตีน ใช้ต้นทุนเพียง 4,500-5,000 บาท และปัจจุบันนจิ้งหรีดเป็นที่ต้องการของตลาดโลก ได้แก่ สหรัฐฯ เม็กซิโก นิวซีแลนด์ และประเทศในยุโรป

ดังนั้น จึงได้มีการจัดอบรมเกษตรกรผู้สนใจเลี้ยงจิ้งหรีด เป็นอาชีพเสริม ในพื้นที่ 4 อำเภอ ของจังหวัดสุพรรณบุรี ได้แก่ อำเภอวังน้ำทรัพย์ อำเภอวังยาง อำเภอดอนเจดีย์ และอำเภอสามชุก จำนวน 300 คน พร้อมสนับสนุนอุปกรณ์ในการเลี้ยงฟรี อาทิ ลังเลี้ยงจิ้งหรีด ไข่จิ้งหรีด รวมทั้งเปิดรับซื้อจิ้งหรีดคืนจากเกษตรกรกิโลกรัมละ 80 บาท นอกจากนี้ มีการสร้างโรงงานแปรรูปจิ้งหรีดผง เพื่อส่งออกจำหน่ายให้กับตลาดต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกษตรกรเชื่อมั่นว่าเลี้ยงแล้วมีตลาดรองรับที่แน่นอน

ด้านนายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการ มกอช. กล่าวว่า การส่งออกจิ้งหรีดไปยังประเทศต่างๆ ฟาร์มจิ้งหรีดจะต้องได้การรับรองมาตรฐาน ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย มกอช. ได้ประกาศมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด (มกษ.8202-2560) เป็นมาตรฐานทั่วไป เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อความปลอดภัยของผลิตผลจากจิ้งหรีด โดยมีกรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการตรวจรับรอง ดังนั้น เกษตรกรที่เลี้ยงจิ้งหรีดจะต้องปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐาน และสามารถยื่นขอการรับรองมาตรฐานฟาร์มจิ้งหรีด GAP ได้ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด เมื่อผ่านการรับรองมาตรฐานแล้วก็สามารถส่งจิ้งหรีดไปยังโรงงานแปรรูป ทำให้กระบวนการส่งออกง่ายขึ้น เพราะดำเนินการตามเกณฑ์คู่ค้าต้องการ รวมทั้งเป็นการขยายตลาดจิ้งหรีดของไทยไปทั่วโลก

Categories
จิ้งหรีด ตลาดแมลง

ประภัตร “หนุนสุพรรณบุรี” เลี้ยงจิ้งหรีดป้อนตลาดโลก

ประภัตร เตรียมส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงจิ้งหรีด ในจ.สุพรรณบุรี ตั้งเป้าเป็นฐานการผลิตป้อนตลาดโลก ประสานทุกหน่วยงาน ปั้นฟาร์มจีเอพี พัฒนาสูตรอาหาร ดึงขวัญใจฟาร์ม” และ “เปี่ยมสุขฟาร์ม รับซื้อ

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้หารือร่วมกับ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ ผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ ภาคเอกชนผู้ผลิต/แปรรูป และจำหน่ายจิ้งหรีด-ผลิตภัณฑ์ (ขวัญใจฟาร์ม และเปี่ยมสุขฟาร์ม) กลุ่มเกษตรกรจังหวัดสุพรรณบุรี กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร เป็นต้น

เพื่อเตรียมการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงจิ้งหรีดในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อเสริมสร้างรายได้ กระจายโอกาส ช่วยแก้ปัญหาความยากจน ตลอดจนวางเป้าให้เป็นฐานการผลิตป้อนตลาดโลก โดยมีประเด็นสำคัญ คือส่งเสริมให้มีการตั้งฟาร์มมาตรฐาน GAP เพื่อผลิตจิ้งหรีดคุณภาพ นำร่องที่จังหวัดสุพรรณบุรี รวม 200 รายๆ ละ 5 กล่อง ภายหลังการดำเนินงานในระยะแรกจะมีการประเมินเพื่อขยายผลไปในวงกว้างต่อไป

โดยคัดเลือกเกษตรกรเป้าหมาย มอบให้นายกเทศบาลตำบลเป็นผู้รับผิดชอบ สำหรับด้านระบบงานส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งหรีด มอบหมายกรมปศุสัตว์ โดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสุพรรณบุรี ร่วมกับ กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ เป็นผู้ประสานงานที่ส่วนกลาง และให้ “ขวัญใจฟาร์ม” และ “เปี่ยมสุขฟาร์ม” เป็นผู้รับซื้อผลผลิตในราคาประกัน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร

ทั้งนี้ มกอช.จะร่วมกับกรมปศุสัตว์ให้คำแนะนำด้านการจัดทำมาตรฐานฟาร์ม GAP แก่เกษตรกร และให้กรมปศุสัตว์ โดยสำนักพัฒนาอาหารสัตว์ คิดสูตรอาหารสัตว์ที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงจิ้งหรีด เป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรได้ใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ในท้องถิ่นราคาถูก มาผสมอาหารสัตว์ใช้เองนำไปเลี้ยงสัตว์ให้เหมาะสมกับระยะการเจริญเติบโต และให้ผลผลิตของสัตว์เลี้ยง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์

โดยได้ประชุมวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกับคณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก เพื่อหารือแนวทางในการส่งเสริมเกษตรกรให้มีอาชีพเลี้ยงสัตว์ สร้างรายได้ โดยเตรียมเดินหน้าขับเคลื่อนร่วมกัน ซึ่งทางมหาวิทยาลัยนเรศวรยินดีให้คำแนะนำและพร้อมสนับสนุนให้เกษตรกรได้มีอาชีพที่มั่นคง อย่างไรก็ตามภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 (COVID-19) คลี่คลายแล้ว พร้อมเดินหน้าเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่พี่น้องเกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรม